แนะนำโครงการ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหานักเรียนซึ่งมีศักยภาพทางวิชาการสูงกว่านักเรียนปกติในระดับเดียวกัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการส่งเสริมให้นักเรียนเหล่านี้มีความก้าวหน้าทางการศึกษาในสาขาที่มีศักยภาพทางวิชาการไปได้เร็วกว่านักเรียนปกติในระดับเดียวกัน และแก้ไขปัญหาในการเบื่อหน่ายการเรียนรู้ภายในโรงเรียนของนักเรียนในกลุ่มเหล่านี้ ดังนั้น โครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถส่งเสริมนักเรียนที่มีศักยภาพทางวิชาการให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพทางวิชาการตามความถนัดและสนใจ ได้ใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวในการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสวิชาการขั้นสูงระดับอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่นักเรียนชอบได้ก่อนที่จะเลือกเข้ามาศึกษาในระดับอุดมศึกษาจริงอีกด้วย

โครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโครงการที่มีความคล้ายคลึงกับ Advanced Placement Program (AP Program) ที่เริ่มดำเนินการในประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 โดยความร่วมมือของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการส่งเสริมและจัดการศึกษาให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนบางวิชาที่สนใจหรือถนัดล่วงหน้าข้ามระดับชั้นเรียน โดยจะได้รับหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยในวิชาที่สอบผ่านเมื่อเข้าศึกษาเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ภาคปลาย ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา โดยได้ดำเนินการเปิดสอนใน 4 รายวิชาพื้นฐานทางสายวิชาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาเคมี วิชาชีววิทยา และวิชาฟิสิกส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์มาเป็นอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าว และได้รับความอนุเคราะห์ช่องทางการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยวิธีพิเศษจากคณะวิชาในสายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งจากส่วนกลาง (บางเขน) วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร อีกด้วย

การเรียนการสอนของโครงการฯ ในระยะเริ่มแรก (รุ่นที่ 1 – 13)

การเรียนการสอนของโครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แรกเริ่มแต่เดิม (รุ่นที่ 1 – 13) นั้น โครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบชั้นเรียนโดยอาจารย์ผู้สอนจากคณะวิทยาศาสตร์ สลับกับการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลผ่านระบบห้องประชุมเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ หรือคู่ขนานทั้งสองรูปแบบ ซึ่งได้พบว่า ในการเรียนการสอนแบบทางไกลนั้น ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร (จำนวนนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการน้อย และผลการศึกษาสัมฤทธิ์ของนักเรียนอยู่ในแนวโน้มที่ไม่ดีนัก) เนื่องจากนักเรียนไม่มีโอกาสในการเข้าถึงและสอบถามบทเรียนหรือข้อสงสัยต่าง ๆ จากอาจารย์ผู้สอนได้โดยตรง (ระบบประชุมทางไกลในขณะนั้นรองรับเพียงแค่การสื่อสารทางเดียว) ส่วนการจัดเรียนการสอนในลักษณะชั้นเรียนโดยอาจารย์ผู้สอนนั้น พบว่ามีผลการตอบรับที่ดีทั้งในแง่จำนวนนักเรียนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ และผลการศึกษาสัมฤทธิ์ของนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มีผลแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยผลการศึกษาของนิสิตในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ลงทะเบียนเรียนในวิชาเทียบเท่ากัน แต่ทว่า โครงการฯ ได้พบปัญหาที่นักเรียนส่วนใหญ่เมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง นักเรียนจะไม่สะดวกในการเดินทางมายังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้ทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในภูมิลำเนาต่างจังหวัดที่จะต้องเดินทางไป-กลับตลอดเวลา ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเรียนทั้งในโครงการเรียนล่วงหน้าและการเรียนในระดับมัธยมศึกษา หรือ ติดการสอบกลางภาค สอบไล่ หรือกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ที่โรงเรียน ทำให้ไม่สามารถเข้าสอบประจำบทเรียน สอบกลางภาค หรือสอบไล่ของโครงการฯ ได้ ทำให้นักเรียนหลาย ๆ คน ต้องพลาดโอกาสในการศึกษาและการได้รับผลการเรียนจากโครงการฯ ไปอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมต่าง ๆ เช่น การเลื่อนการเปิด-ปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่ได้เลื่อนการเปิดภาคการศึกษาไปด้วย ทำให้ปฏิทินการศึกษาของทั้งสองระดับเหลื่อมล้ำซึ่งกันและกัน การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนิสิตเพิ่มมากขึ้น จนมากกว่าความเพียงพอของคาบเรียน-ห้องเรียนต่าง ๆ รวมไปถึงเหตุการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 และเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงปี พ.ศ. 2556 ที่ทำให้การเรียนการสอนเกิดความล่าช้าหรือต้องยกเลิกการเรียนการสอนในรุ่นนั้น ๆ ไป เป็นต้น ทำให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องเริ่มพิจารณาในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนของโครงการฯ เพื่อให้รองรับความต้องการที่กำลังเปลี่ยนไป

จากการเรียนที่ผูกยึดติดไว้ในห้องเรียน สู่การเรียนในยุค 4.0 เข้าเรียนออนไลน์ ใคร ๆ ก็เรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา

ในขณะเดียวกัน การเรียนการสอนในยุคปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พบว่า พฤติการณ์ในการเรียนรู้ของประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการเรียนการสอนอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ การเข้ามาของเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กที่มีขนาดเล็กลง โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและสมาร์ทแท็บเล็ต การมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม การเข้ามาของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งและแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา สามารถกรอย้อนกลับ ปรับเพิ่มลดความเร็วเพื่อย้อนฟังจุดที่ไม่เข้าใจได้อย่างมีอิสระ ทำแบบทดสอบออนไลน์ที่สามารถให้ผลลัพธ์การประเมินผลทันทีที่ทำแบบทดสอบเสร็จสมบูรณ์ รวมไปถึงคณาจารย์ผู้สอนรุ่นใหม่ที่ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน เพื่อให้มีการสื่อสารและการนัดหมายที่ไม่จำเป็นต้องหาเวลาว่างในการเข้าพบหรือติดต่อให้ตรงกัน ตลอดไปจนถึงรูปแบบความต้องการทางการศึกษาและพฤติกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ผู้เรียนจะยอมเข้าเรียนในชั้นเรียนต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ตามแผนการศึกษาที่มีลักษณะระยะยาว (เช่น ปริญญาตรี 4 ปีการศึกษา) เพื่อให้ได้มาซึ่งวุฒิการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต กลายมาเป็นความต้องการที่ผู้เรียนสามารถออกแบบตารางการเข้าเรียนและการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ การศึกษาที่ไม่เน้นรูปแบบการที่ต้องเข้าห้องเรียนตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ การวางแผนการศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น และความต้องการวุฒิการศึกษาแบบเก็บสะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ทีละส่วน ๆ จนกระทั่งครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ จึงจะมาขอแลกเป็นปริญญา ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรูปแบบโครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากระบบเดิมที่ยึดติดกับห้องเรียน มาเป็นระบบใหม่ที่ให้อิสระแก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ในภาคต้น ปีการศึกษา 2562 โครงการเรียนล่วงหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 14 จึงได้ทำการปรับปรุงรูปแบบโครงการฯ ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบเดิม เป็น การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวความคิด “KULearn ใคร ๆ ก็เรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา” พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในทุกระดับชั้น ทุกประเภท สามารถเลือกที่จะ เรียนเพียงอย่างเดียว หรือ เรียนพร้อมสอบวัดผล โดยเข้าสอบกลางภาคและสอบไล่เหมือนกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้ แม้ว่าจะเป็นนักเรียนที่ยังไม่ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องการทดลองเรียนก่อนที่จะเรียนจริงในปีการศึกษาถัดไป ผู้ปกครองที่สนใจอยากทราบรูปแบบการเรียนการสอนทั้งระบบของโครงการฯ ตลอดไปจนถึงนิสิต/นักศึกษา ทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ทุกวิทยาเขต) เอง หรือจากสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ที่มีความต้องการจะเพิ่มพูนและทดสอบความรู้ของตนเองก่อนที่จะไปลงทะเบียนเรียนจริง ๆ ในวิชาเหล่านั้นในชั้นเรียนปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้เริ่มผลักดันการปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการศึกษาตามแนวคิด “KULearn ใคร ๆ ก็เรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา” ได้มากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับปรุงให้ผลการเรียนมีอายุ 3 ปีปฏิทิน (จากเดิมที่มีอายุเพียงเฉพาะปีการศึกษาหรือรุ่นนั้น ๆ) ซึ่งปลดล็อกให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สามารถเริ่มเก็บสะสมผลการเรียนเพื่อมายื่นโควตาของโครงการฯ หรือเพื่อให้ผู้ที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (ซิ่ว) สามารถใช้ผลการเรียนเทียบโอนได้เมื่อเข้าเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านทางช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ช่องทางโควตาของโครงการ (ปัจจุบันโควตาฯ ใช้ได้เฉพาะนักเรียนระดับชั้น ม.6 ต่อเนื่องขึ้นปี 1 เท่านั้น) การประสานงานกับโครงการธนาคารหน่วยกิตของวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ ให้นำผลการเรียนของโครงการฯ ไปนำเข้าธนาคารหน่วยกิตได้ (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาและร่างข้อบังคับและระเบียบฯ ของทางวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์) ประสานงานกับรายวิชาอื่น ๆ ที่ผู้เรียน และ/หรือ คณะวิชาเจ้าของรายวิชาต่าง ๆ มีความสนใจ โดยเฉพาะทางสายวิชาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สายวิทยาศาสตร์ เช่น รายวิชาหลักการทางเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ รายวิชาภาษาอังกฤษ เข้ามาเปิดรายวิชาในโครงการฯ มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเปิดการเรียนการสอนหลาย ๆ รอบ ใน 1 ปีการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกแบ่งการลงทะเบียนเรียนออกเป็นหลาย ๆ ครั้ง เพื่อไม่ให้หนักเกินไป หรือ สามารถลงทะเบียนเรียนใหม่ได้หลายครั้งด้วยเช่นกันเพื่อให้ได้ผลคะแนนที่ดีที่สุดในการใช้งานอื่น ๆ ต่อไปได้อีกด้วย