โครงการประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับวิทยาเขต ประจำปีงบประมาณ 2567
วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2567
ณ ห้องประชุมนนทรีศรีราชา 2 ชั้น 2 อาคาร 1 บริการวิทยาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชา
รองศาสตราจารย์ ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ประธานกรรมการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงประเด็นสำคัญของปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความต้องการของคณะต่าง ๆ ในวิทยาเขตศรีราชาที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมและสนับสนุนในระดับนโยบาย จากโครงการประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับวิทยาเขต ประจำปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งได้รับทราบจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหารวิทยาเขต ผู้บริหารส่วนงาน คณาจารย์และบุคลากร ในการศึกษาดูงานภายในวิทยาเขตฯ จำนวน 5 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา คณะวิทยาศาสตร์ศรีราชา คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ และคณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา และรายงานให้ที่ประชุมฯ ทราบ ดังนี้ ในภาพรวมวิทยาเขตศรีราชา มีหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนและจัดการเรียนการสอนรวมทั้งสิ้น จำนวน 36 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 27 หลักสูตร ระดับปริญญาโท จำนวน 8 หลักสูตรและหลักสูตรระดับปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร ซึ่งได้ผ่านการประเมินคุณภาพและมีการบริหารจัดการเป็นไปตามเกณฑ์ AUN-QA และ TQF-PLUS ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ซึ่งวิทยาเขตได้ส่งเสริมให้มีการประเมินคุณภาพเข้าสู่ระบบการประเมิน AUN-QA เพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับจำนวนนิสิตในบางสาขาที่มีผู้สมัครเข้าศึกษาลดน้อยลง วิทยาเขตและคณะได้มีการพิจารณาทบทวนโดยยกเลิกรับนิสิตเข้าศึกษา เช่น สาขาวิชาฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา รวมทั้งมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้านการแนะแนวการศึกษาให้กับนักเรียนและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้ผู้ทำงานหรือผู้เรียนสายอาชีวศึกษาได้มีการพัฒนาทักษะวิชาชีพและมีโครงการพัฒนาหลักสูตรให้รองรับกับการทำงานและสอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงานในรูปแบบ Degree และ Non Degree เพื่อรองรับผู้เข้าศึกษาในวัยทำงานและเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มขึ้นซึ่งจากการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้บริหารวิทยาเขต ผู้บริหารคณะ และคณาจารย์ของคณะต่าง ๆ มีความประสงค์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในระดับนโยบายและการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ดังนี้
การส่งเสริม/สนับสนุนในทางวิชาการ
1) การพัฒนาหลักสูตร ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนออนไลน์ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมได้กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ปี 2565 ไว้ ทั้งนี้ โดยการจัดการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ดำเนินการให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565
2) การจัดทำวิจัยสถาบันในการปรับปรุงหลักสูตรและการเปิดหลักสูตรใหม่ ซึ่งต้องมีการสำรวจให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกสาขาอาชีพเพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3) ความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนการสอนสหกิจศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งภาพรวมที่ผ่านมาระดับบัณฑิตศึกษาจะมุ่งเน้นโครงงาน วิทยานิพนธ์และการศึกษาค้นคว้าอิสระ รวมทั้งเน้นการวิจัย นอกจากนี้ วัตถุประสงค์และเป้าหมายรวมทั้งผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับบัณฑิตศึกษาแตกต่างจากระดับปริญญาตรี
4) การส่งเสริมหลักสูตรที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพให้แก่นิสิต และมุ่งเน้น ระบบคลังหน่วยกิตเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/แนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการดำเนินงานและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริม/สนับสนุนด้านการบริหารจัดการ
ความสามารถในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในด้านจำนวนรับเข้าศึกษา
1) ความเป็นไปได้ในการขอเปิดรับโครงการพิเศษเพิ่มขึ้นในสาขาวิชาที่มีการรับนิสิตเข้าศึกษาภาคปกติและปัจจุบันเป็นสาขาวิชา ที่มีผู้สนใจเข้าศึกษาเพิ่มขึ้นและเป็นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม
2) การรับนิสิตที่พ้นสภาพกลับเข้ามาศึกษาในสาขาวิชาและคณะได้เพื่อช่วยลดปัญหาการออกกลางคันของนิสิต
3) การให้ความช่วยเหลือคณะที่มีผู้เข้าศึกษาและยืนยันสิทธิ์จำนวนน้อยในการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์การรับนิสิตต่างชาติในสถานการณ์ที่มีคู่แข่งสูงมาก และส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติของวิทยาเขต
การช่วยเหลือนิสิตที่กำลังศึกษา
1) การกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์ ของประเทศไทยที่ไม่เอื้อต่อการรับเข้าทำงานด้านการเดินเรือของผู้หญิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับนิสิตเข้าศึกษา ในสาขาการเดินเรือของคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ
2) การให้ความสำคัญและการดูแลสุขภาพจิตของนิสิตนอกเหนือจากการส่งให้ศูนย์ KU Happy Place
การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการ มาตรการ และการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง
1) การลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาหลักสูตรให้กระชับ รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาและระดับปริญญาตรีเพื่อให้คณะและวิทยาเขตสามารถเปิดหลักสูตรและรับนิสิตเข้าศึกษา เพื่อตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งต้องการให้มีพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา หลักสูตรแยกเล่มที่ปรับเปลี่ยนชื่อและ/หรือโครงสร้างหลักสูตรที่รองรับสหกิจศึกษา การทำโครงการหลักสูตรตรีควบโท หรือหลักสูตรคู่ขนานหรือหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญและคณาจารย์ ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนเกี่ยวข้องในสาขานั้นเป็นการเฉพาะ
2) การแต่งตั้งอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตรเพิ่มเติม กรณีมีคณาจารย์ บางส่วนศึกษาต่อต่างประเทศ และกรณีมีคณาจารย์ เพิ่มเติมระหว่างการใช้หลักสูตรซึ่งยังไม่ถึงรอบระยะเวลาในการปรับปรุง รวมทั้ง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแต่งตั้งอาจารย์เกษียณและอายุเกิน 55 ปี เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว
3) การขาดการสื่อสารระหว่างผู้แทนคณะที่เป็นกรรมการการศึกษา มก. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในรายละเอียดของการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร
4) การกำหนดแนวทางการบูรณาการหลักสูตรและช่วยเหลือหลักสูตรที่มีจำนวนผู้เรียนลดลงหรือไม่มีผู้สมัครเข้าเรียนต่อเนื่องติดต่อกัน ซึ่งอาจมีการปรับปรุงหลักสูตรแทนการขอปิดหลักสูตรและบรรจุแผนใหม่และต้องทำเรื่องเสนอขอเปิดหลักสูตรใหม่ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน
5) การกำหนดมาตรการในการดูแลอาจารย์ผู้สอนต่างชาติและนิสิตต่างชาติให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้คณะและส่วนงานบริการเสริมสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติมากขึ้น เช่น การจัดทำสื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษและคู่มือและแนวปฏิบัติป้ายบอกทางที่มีภาษาอังกฤษปรากฏ เป็นต้น
จากนั้น ที่ประชุมฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ได้ให้ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตศรีราชา ดังนี้
1) วิทยาเขตศรีราชา เป็นวิทยาเขตที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการบริหารจัดการด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัยการบริการวิชาการและการพัฒนางานด้านวิชาการและการเรียนการสอนที่โดดเด่นที่ครอบคลุมสาขาวิชาและตลาดแรงงานของประเทศ จึงควรพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตและการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนางานด้านวิชาการของวิทยาเขตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2) ควรพิจารณาการบูรณาการหลักสูตรที่มีผู้เรียนลดลงแทนการเปิดหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรในรูปแบบ Degree และ Non Degree เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานและสังคม
3) ควรพัฒนาต่อยอดงานวิจัยโดยเน้นความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และองค์กรผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งการขยายการรับในระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
4) ควรพัฒนาหลักสูตรสหกิจศึกษา และส่งเสริมศักยภาพนิสิตสู่สากลควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวิทยาเขตที่มีความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์และการโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเดินเรือ และพาณิชยนาวีนานาชาติ ตลอดจนภาคเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตภูมิภาค
5) ควรทำวิจัยสถาบันให้ครอบคลุมถึงการผลิตบัณฑิตและการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ให้มีอัตลักษณ์และคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงานและผู้ใช้บัณฑิต
6) ควรทบทวนและวิเคราะห์ข้อมูลการลดลงของนิสิตระหว่างชั้นปี การลาออกกลางคันของนิสิต รวมทั้งการลดลดลงของจำนวนผู้เข้าศึกษาในการออกกลางคันของนิสิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรมีการพิจารณาและคำนึงถึงตลาดที่รองรับให้สอดคล้องกับการผลิตบัณฑิตของวิทยาเขตในแต่ละสาขาวิชา
7) กรณีการปรับปรุงหลักสูตรจากชื่อสาขาวิชาเดิมเป็นสาขาวิชาใหม่ ขอให้คำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน และการมีอาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่มีผลงานที่สอดคล้องกับสาขาวิชาใหม่และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร พ.ศ. 2565
8) การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ 100% ในคณะหรือสาขาวิชาที่มีความพร้อมที่เอื้อต่อความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนสามารถดำเนินการได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และประกาศต่าง ๆ ที่กำหนดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2565 ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในแต่ละระดับปริญญา
9) วิทยาเขตศรีราชา มีความพร้อมในการพัฒนางานวิจัยจากการเรียนการสอนและมีความร่วมมือจากองค์กรภายนอก รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน จึงควรมีการขยายจำนวนรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลิตงานวิจัยที่ทันสมัยและตอบโจทย์ของสังคมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
10) ควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับส่วนงานภายนอกและสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยและวิทยาเขตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
11) ควรส่งเสริมการสร้างศักยภาพนิสิตสู่สากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อการแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยอาจแทรกการพัฒนาภาษาไว้ในกระบวนการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนการสอนในทุกหลักสูตรและรายวิชา และควรมีการติดตามนโยบายอย่างเป็นระบบ
12) การทำวิจัยสถาบันเพื่อใช้ในการเปิดหลักสูตรใหม่และการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร ควรคำนึงถึงเป้าหมายการผลิตบัณฑิตทั้งด้านทักษะ ด้านความรู้และคุณลักษณะบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
13) การขยายพื้นที่ของวิทยาเขตเพื่อรองรับการขยายโอกาสทางการศึกษา งานวิจัยและบริการวิชาการสู่สังคม วิทยาเขตอาจพิจารณาการขยายตัวให้ครอบคลุมตามศักยภาพความพร้อมให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ด้านสัตวแพทยศาสตร์ เป็นต้น
14) กรณีมีความจำเป็นในการแต่งตั้งอาจารย์ที่มีอายุเกิน 55 ปีเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และ/หรืออาจารย์ประจำหลักสูตร รวมทั้งการแต่งตั้งอาจารย์เกษียณอายุด้วยนั้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีประกาศที่เอื้อต่อความจำเป็นดังกล่าวแล้ว
15) การเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายชื่ออาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่หลักสูตรที่ยังไม่ครบรอบปรับปรุงนั้น ขอให้พิจารณาเสนอขอปรับเพิ่มเติมได้พร้อมกับการเสนอขอปรับปรุงหลักสูตรหรือเปิดหลักสูตรใหม่พร้อมกันได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไม่ผ่านการอนุมัติรับรองหลักสูตรและส่งผลกระทบกับนิสิตทุกรายที่เคยได้รับอนุมัติใช้หลักสูตรนั้นแล้ว เนื่องจากทางกระทรวงฯ จะทบทวนตรวจสอบคุณสมบัติอาจารย์ทุกคนใหม่อีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องผลงานทางวิชาการและการตีพิมพ์ผลงานในรอบ 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมาหลายสถาบันประสบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก
16) ควรพิจารณาให้มีระบบการดูแลนิสิตทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งปัจจุบันอาจมีปัญหาโรคซึมเศร้า
17) ควรมีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อรองรับนิสิตต่างชาติในการปรับตัวเข้าศึกษาในวิทยาเขตทั้งนี้ ประธานฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารข้อมูลอย่างทั่วถึงทุกวิทยาเขตและทุกระดับ เพื่อลดประเด็นปัญหาการบริหารจัดการของวิทยาเขตที่อาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในข้อบังคับ/ระเบียบ/แนวปฏิบัติ/มาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากการสรุปประเด็นที่ได้จากการศึกษาดูงานภายในวิทยาเขตฯ