โครงการประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับวิทยาเขต ประจำปีงบประมาณ 2567
วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 – วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2566
ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
รายงาน
สรุปผลการประชุมสัญจร เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับวิทยาเขต ประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่
30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาในภาพรวมของวิทยาเขต ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ
1) ประเด็นคุณภาพนิสิตที่รับเข้าศึกษาในวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ซึ่งพบประเด็นปัญหาเรื่องผู้เข้าศึกษาลดลงและมีคุณภาพไม่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยมีจำนวนรับเข้าศึกษาที่ต่ำกว่าแผนกลั่นกรองในแต่ละหลักสูตร
2) ประเด็นการพัฒนาอาจารย์ในวิทยาเขตโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา Growth Mindset
3) ประเด็นปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่ไม่เพียงพอ
คณะสาธารณสุขศาสตร์ พบว่าคณาจารย์ในสังกัดคณะยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการส่งนิสิตปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะควรให้ความสำคัญ เนื่องจากนิสิตในสาขาวิชาต้องการทักษะการทำงานจริงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แม้คณะจะมีการเติบโตในด้านจำนวนผู้เข้าศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ส่งผลกระทบเรื่องอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ จากข้อมูลอัตราส่วนนักศึกษาเต็มเวลา (FTES) ต่อจำนวนอาจารย์เพียง 27 คน ตลอดจนสถานการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนซึ่งแม้จะมีชนิดที่หลากหลายแต่ยังมีในจำนวนน้อย
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน อาทิ ห้องพิจารณาคดีจำลอง ของภาควิชาสังคมศาสตร์สาขาวิชานิติศาสตร์ และร้านกาแฟ KU LAMS CAFÉ ของภาควิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมการบริการ
คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนที่ทันสมัยและมีสมรรถนะสูง จำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบทางด้านการวิจัยเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และยังสามารถให้บริการกับบุคคลภายนอกในเชิงการบริการวิชาการได้ ประเด็นความเป็นไปได้ในการควบรวมสาขาวิชา/หลักสูตร ของสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ดร.วุฒิพงศ์ อารีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ให้ข้อเสนอแนะให้หลักสูตรแยกแขนงออกเป็นวิชาเลือกต่าง ๆ ตามแต่ละสาขาวิชา เนื่องจากมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน หากสามารถควบรวมได้จะส่งผลให้สาขาวิชามีความเข้มแข็งทั้งด้านการเรียนการสอนและการทำงานวิจัย และนิสิตยังสามารถขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสาขาวิชาวิทยาการข้อมูลซึ่งมีเนื้อหาการเรียนการสอนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่ง ดร.อรสา ภาววิมล ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้แสดงความเห็นด้วยและให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมเรื่องการควบรวมหลักสูตรเพื่อบูรณาการหลักสูตรใหม่ เพื่อลดปัญหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบไม่เพียงพอในกรณีควบรวมหลักสูตร โดยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรฯ ในปัจจุบันสามารถอนุโลมได้หาก 2 หลักสูตรเดิมมีนิสิตคงค้างไม่มาก อาจปรับลดจำนวนอาจารย์ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรเดิมเหลือเพียงหลักสูตรละ 2 คน และย้ายอาจารย์ที่เหลือไปเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรใหม่
คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร นำเยี่ยมชมโรงเพาะเลี้ยงสาขาวิชาประมง ซึ่งคณะมีศักยภาพในการสร้างหลักสูตร Non-Degree และการสร้างงานวิจัยซึ่งมีจุดเด่นด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีพื้นฐานในด้านการประมงสู่ชุมชนในพื้นที่ตลอดจนให้ความสำคัญกับการการส่งนิสิตลงพื้นที่จริงในชุมชน เพื่อให้ได้พบสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานและเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในชุมชน และคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช รายงานปัญหาของวิทยาเขตฯ เรื่องการขาดความมั่นใจของอาจารย์ภายในวิทยาเขตฯ ในการขอทุนวิจัย ซึ่งข้อมูลปัจจุบัน วิทยาเขตฯ มีสถานะเป็นหัวหน้าโครงการหรือมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ค่อนข้างน้อย แม้จะมีเครื่องมือที่จำเป็นและมีโจทย์การวิจัยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งวิทยาเขตฯ ยังขาดความเชื่อมโยงและเครือข่ายด้านการวิจัยกับบางเขน ทั้งยังต้องการที่ปรึกษา (Mentor) เพื่อสร้างความมั่นใจในการขอทุนวิจัย และยังต้องการการสนับสนุนจากคณะที่มีสาขาวิชาใกล้เคียงกันในบางเขน และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาของ มก. และส่วนงานสนับสนุนของมหาวิทยาลัยอยู่พอสมควร ซึ่งประธานฯ ได้แจ้งในที่ประชุมทราบว่าสามารถเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นแนวนโยบายให้กับทางฝ่ายวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้การสนับสนุนที่ปรึกษา (Mentor) ให้กับวิทยาเขตฯ ได้
โดยประธานฯ และที่ประชุมได้มีการอภิปรายเสนอความคิดเห็นในประเด็นการสนับสนุนการบูรณาการการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการวิจัยของวิทยาเขตให้เต็มศักยภาพและมหาวิทยาลัยควรมีแนวนโยบายหรือกำหนดกลยุทธ์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องจำนวนและคุณภาพนิสิตเพื่อส่งเสริมให้เกิดจุดคุ้มทุนและพัฒนาให้นิสิตในวิทยาเขตมีคุณภาพสูงขึ้น โดยคณะกรรมการวิชาการ มก. ควรมีบทบาทในระดับนโยบายของมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศและเตรียมความพร้อมให้นิสิตก่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงานใน 2 ประเด็น คือ
1) ควรสื่อสารความสำคัญของนโยบายการส่งเสริมสหกิจศึกษา (CWIE) และการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) ให้ทั่วถึงทุกวิทยาเขต เพื่อให้คณาจารย์ของวิทยาเขตเห็นภาพในการออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน
2)สนับสนุนและช่วยเหลือด้านทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน ตลอดจนอัตรากำลังที่เพียงพอเพื่อให้วิทยาเขตสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย