ประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการ กำแพงแสน

ประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการ กำแพงแสน

โครงการประชุมสัญจรคณะกรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับวิทยาเขต ประจำปีงบประมาณ 2567
วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2567
ห้องประชุมวิชาการ 1 อาคารศูนย์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน

ประเด็นสำคัญของปัญหาและอุปสรรค รวมถึงความต้องการของคณะต่าง ๆ ในวิทยาเขตกำแพงแสน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยส่งเสริมและสนับสนุนในระดับนโยบาย จากการประชุมสัญจร ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้รับทราบจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหารวิทยาเขต ผู้บริหารส่วนงาน
คณาจารย์และบุคลากร ในการศึกษาดูงานคณะทั้งหมดภายในวิทยาเขตฯ ซึ่งประกอบด้วย คณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมบริการ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนาศาสตร์ และรายงานให้ที่ประชุมฯ ทราบ ดังนี้

การส่งเสริม/สนับสนุนในทางวิชาการ

1) การจัดวิทยากรเพื่ออบรมให้ความรู้แก่คณาจารย์ของวิทยาเขตและคณะเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานระดับอุมดศึกษา พ.ศ. 2565 และการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนารายวิชาให้สอดรับ กับผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (PLO) และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การวัดและประเมินผลการเรียนที่คณาจารย์ ควรทราบ การผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น
2) การพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และนิสิตด้านภาษาอังกฤษและทักษะที่จำเป็น เพื่อการแข่งขันในตลาดแรงงานและเพื่อส่งเสริมการสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติให้กับวิทยาเขต
3) การสนับสนุนและส่งเสริมให้คณะต่าง ๆ ภายในวิทยาเขตพัฒนาหลักสูตรนานาชาติตลอดจนเพิ่มการประชาสัมพันธ์การรับนิสิตต่างชาติเพื่อเข้าศึกษาในวิทยาเขต โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายชาวจีน ซึ่งมีความต้องการในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจำนวนมากและมีศักยภาพในการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ในระดับสูง
4) การสนับสนุนและส่งเสริมให้คณะต่าง ๆ ภายในวิทยาเขตสร้างหลักสูตรที่มุ่งเน้นการศึกษาเชิงบูรณากางเน้นการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) เพื่อเพิ่มพูนสมรรถนะการทำงานและการแข่งขันให้แก่นิสิต
5) การสนับสนุนโครงการธนาคารหน่วยกิต เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนได้หลากหลาย อาทิ ผู้ที่ทำงานแล้ว ผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่มีเวลาเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง

การส่งเสริม/สนับสนุนด้านการบริหารจัดการ

ความสามารถในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในด้านจำนวนรับเข้าศึกษา
1) ควรปรับช่วงเวลาการรับเข้าศึกษาและการยืนยันสิทธิ์ให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีจำนวนผู้เข้าศึกษาลดลง เนื่องจากเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจระหว่างรอ และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้
2) ควรให้การสนับสนุนคณะที่มีผู้เข้าศึกษาและยืนยันสิทธิ์ลดลง โดยสร้างความรู้ความเข้าใจในการบูรณาการ/ควบรวมหลักสูตร เพื่อลดภาระการบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
3) ควรสนับสนุนโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติให้มีบทบาทในการช่วยเหลือคณะและวิทยาเขตในการส่งเสริมและสนับสนุนการรับนิสิตต่างชาติเข้าศึกษาทั้งในหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรนิสิตแลกเปลี่ยน และหลักสูตรระดับปริญญา

การช่วยเหลือนิสิตที่กำลังศึกษา

1) ควรกำหนดแนวทางการช่วยเหลือนิสิตโควตานักกีฬา เนื่องจากปัจจุบันประสบปัญหาเกี่ยวกับการเรียนวิชาภายนอกคณะและวิชาพื้นฐาน โดยเฉพาะในรายวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยควรมีนโยบายให้กับคณะที่จัดการเรียนการสอนได้จัดทำรายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักกีฬาเช่นเดียวกับบางเขน
2) ควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนด้านสุขภาพจิตสำหรับนิสิต เพื่อคัดกรองก่อนการรับเข้าศึกษาและลดภาระการดูแลของศูนย์ KU Happy Place ตลอดจนเพื่อให้คณะและส่วนงานเตรียมการรับมือได้อย่างถูกต้อง

การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศและระบบการบริหารจัดการอื่น ๆ

1) ควรพัฒนาระบบสารสนเทศการลงทะเบียนและการเรียนการสอนของคณาจารย์และนิสิตให้มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาฯ เช่น กรณีการลงทะเบียนเรียนในรายวิชาที่ต้องมีรายวิชาที่เรียนมาก่อน (Prerequisite) ซึ่งระบบสารสนเทศควรจำกัดการลงทะเบียนให้นิสิตไม่สามารถลงทะเบียนข้ามรายวิชาได้ตลอดจนการจัดสรรเงินค่าหน่วยกิตให้กับคณาจารย์อย่างคล่องตัวในรายวิชาที่มีการสอนโดยอาจารย์จากหลายคณะ เป็นต้น
2) ควรกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทะเบียนเรียนรายวิชาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และแบบไม่นับหน่วยกิต(Audit) ให้ชัดเจน เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนบางส่วนยังขาดความเข้าใจในหลักการและไม่อนุญาตให้นิสิตได้ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาแบบไม่นับหน่วยกิต
3) ควรพิจารณาปรับปรุงระบบสารสนเทศการถอนรายวิชา โดยยกเลิกขั้นตอนการให้อาจารย์กดยืนยันเพื่อให้การถอนรายวิชาสมบูรณ์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและทันต่อเวลาในกรณีที่นิสิตดำเนินการล่าช้า
4) ควรเปิดโอกาสให้คณะสามารถบริหารจัดการเตรียมความพร้อม ให้กับนิสิตที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่า 51 ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 355103 และ 355XXX ก่อนนิสิตอื่น ๆ
5) ควรพิจารณาทบทวนเงื่อนไขที่กำหนดให้นิสิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยต้องผ่านการสอบภาษาอังกฤษและทักษะที่เกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
6) ควรกำหนดมาตรการในการดูแลอาจารย์ผู้สอนต่างชาติและนิสิตต่างชาติให้ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมให้
คณะและส่วนงานเสริมสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติในวิทยาเขต เช่น การจัดทำสื่อการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
รวมถึงจัดทำป้าย/ประกาศ/คู่มือต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยโดยใช้ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
7) ควรกำหนดนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์โดยกำหนดอัตราส่วนระหว่างการสอนแบบใช้ VDO และ
การสอนแบบ Live Streaming ให้ชัดเจน โดยเฉพาะรายวิชาบริการกลางซึ่งจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตจำนวนมาก

จากนั้น ที่ประชุมฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกได้ให้ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะในประเด็น
ปัญหาที่เกี่ยวข้องข้างต้นเพิ่มเติมแก่วิทยาเขตฯ ดังนี้

1) ควรพิจารณาปรับวิธีการรับนิสิตเข้าศึกษาให้มีระบบรับเข้าศึกษาที่หลากหลายและเปิดกว้าง สร้างหลักสูตรทั้งในรูปแบบ Degree และ Non Degree ที่ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเป็นทางเลือกในการเข้าศึกษาตามศักยภาพและความสะดวกของผู้เรียน ตลอดจนสามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อนำมารับปริญญาได้ในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพมากกว่าการเรียนเพื่อรับปริญญา
2) ควรรักษามาตรฐานของระบบสนับสนุนคุณภาพการศึกษา สร้างความโปร่งใส มีการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบการเทียบโอนหน่วยกิตและระบบธนาคารหน่วยกิต
3) สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติซึ่งมีอัตลักษณ์และคุณลักษณะที่พึงประสงค์และสอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงานและผู้ใช้บัณฑิต
4) ควรพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการออกแบบ/การบูรณาการหลักสูตร รวมถึงพัฒนาระบบคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย เพื่อสอดคล้องตามความต้องการของผู้เรียน
5) ควรพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ 100% ในคณะหรือสาขาวิชาที่มีความพร้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน
6) ควรมีมาตรการรองรับและดูแลสุขภาพจิตของนิสิต อาทิ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตอื่น ๆ ตลอดจนความวิตกกังวลในเรื่องการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลกับการเรียนของนิสิต และควรมีการเก็บข้อมูลเป็นการเฉพาะโดยคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ
7) พิจารณาให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่โดยรอบวิทยาเขต โดยสร้างหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรเพื่อ Upskill-Reskill ซึ่งจะส่งผลดีต่อการต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่นอกเหนือจากนักเรียนมัธยมปลาย และได้ประโยชน์จากการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมหลักสูตร CWIE ของมหาวิทยาลัย
8) ควรดำเนินการในระดับคณะ วิทยาเขตและมหาวิทยาลัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษ ยกระดับศักยภาพนิสิตสู่สากล และสอดคล้องกับเกณฑ์ที่กระทรวงฯ กำหนดไว้เมื่อสำเร็จการศึกษาให้มีระดับคะแนนไม่น้อยกว่า B2 เพื่อการแข่งขันได้ในเวทีโลก
9) ควรพิจารณาใช้ผลการทดสอบภาษาอังกฤษซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับนิสิตที่จะสำเร็จการศึกษา อาทิ TOEIC TOEFL หรือ IELTS เพื่อทดแทนการสอบ KU-EXITE เนื่องจากนิสิตสามารถนำผลการทดสอบไปใช้ประโยชน์ ต่อได้ทันทีสำหรับการสมัครงานหรือการศึกษาต่อโดยไม่ต้องทดสอบภาษาอังกฤษหลายครั้ง
10) ควรกำหนดให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างน้อย 1 วิชา ใน 1 ภาคการศึกษาและมีระบบติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
11) ควรพิจารณาการจัดสรรพื้นที่เพื่อเป็น Co-working Space ภายในมหาวิทยาลัยอย่างทั่วถึง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายทางสังคม
12) ควรจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (UBI) โดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้และส่งเสริมให้นิสิตได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ
13) ควรกำหนดแนวทางการควบรวมหลักสูตรและการใช้ชื่อปริญญาหลังจากที่นิสิตสำเร็จการศึกษาแล้ว เนื่องจากใบปริญญาบัตรจะระบุเฉพาะชื่อหลักสูตรโดยไม่ระบุสาขาวิชาเฉพาะ ซึ่งจะส่งผลต่อการรับรองของสภาวิชาชีพ
14) พิจารณาทบทวนแนวทาง/เหตุผลความจำเป็นในการให้ทุนผลการเรียนดีเด่น (5A) เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนนี้มักเป็นนิสิตที่มีฐานะ ซึ่งไม่ตอบโจทย์สำหรับนิสิตขาดแคลน
15) ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณาจารย์ในวิทยาเขต ในเรื่องการควบรวมหลายสาขาวิชาให้อยู่ภายในหลักสูตรเดียว ภาระงานในการเขียนหลักสูตร อาทิ การวิจัยสถาบัน การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเพิ่มขึ้น และต้องครอบคลุมการเขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร ตลอดจนการติดตามผลของผู้ใช้บัณฑิต ฯลฯ จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนสาขาวิชาที่ควบรวม

ทั้งนี้รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารข้อมูลอย่างทั่วถึงทุกวิทยาเขตและทุก
ระดับ เพื่อลดประเด็นปัญหาการบริหารจัดการของวิทยาเขตที่อาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในข้อบังคับ/ระเบียบ/แนวปฏิบัติ/มาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากการสรุปประเด็นที่ได้จากการศึกษาดูงานภายในวิทยาเขตฯ